เรียบเรียงโดย ... ทีมงานเว็บไซต์กองอุตุนิยมวิทยาการบิน

หมอก คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร มีอันตรายต่อการบินอย่างไร

     หมอก (Fog)- FG เป็นน้ำในอากาศหรือไฮโดรมีทีเออร์ (hydrometeor) ชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยกลุ่มละอองน้ำขนาดเล็ก
มากสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าลอยอยู่ในอากาศใกล้พื้นดิน โดยปกติจะทำให้ทัศนวิสัยทางแนวนอนที่ผิวพื้นโลก
ลดลงเหลือน้อยกว่า 1,000 เมตร ถ้าทัศนวิสัยมากกว่า 1,000 เมตร เรียกว่า หมอกบางหรือหมอกน้ำค้าง (mist)
หมอกกับเมฆต่างกันแต่เพียงว่า หมอกนั้นมีฐานอยู่ติดกับพื้นดิน ส่วนเมฆจะมีฐานสูงเหนือพื้นดินขึ้นไป โดยทั่วไป
ขณะเกิดหมอกทัศนะวิสัยจะต่ำกว่า 1 กิโลเมตร หมอกจึงเป็นปรากฎการณ์ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการบิน
เพราะทัศนะวิสัยมีความสำคัญต่อการบินมาก แม้ว่าในปัจจุบันเครื่องบินจะมีสมรรถนะในการบินขึ้น-ลงสนามบินได้
เกือบทุกสภาวะอากาศก็ตาม แต่นักบินก็จะต้องมองเห็นทางวิ่งของสนามบิน ในกรณีที่มีหมอกปกคลุมสนามบินสภาพอากาศ
ขณะนั้นแจ่มใสไม่มีเมฆ ขณะทำการบินที่ตำแหน่งเครื่องบินพอเหมาะ นักบินสามารถมองเห็นสนามบินเบื้องล่างชัดเจน
แต่เมื่อลดระดับลงมาอยู่ในชั้นของหมอก นักบินอาจมองไม่เห็นสนามบินเลย ทั้งนี้เพราะหมอกเกิดปกคลุมสนามบินไม่สูง
จากพื้นดินมากนัก จะปกคลุมหนาทึบบริเวณใกล้พื้นดิน ปรากฎการณ์เช่นนี้มีความสำคัญมาก นักบินจะต้องคำนึงถึงให้มาก
เพราะเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุเครื่องบินตกมามากแล้ว

     หมอกน้ำค้าง (Mist) - BR เป็นน้ำในอากาศหรือไฮโดรมีทิเออร์ (hydrometeor) ซึ่งประกอบด้วยละอองน้ำ เล็กมาก
จนไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือละอองน้ำดูดความชื้น (hydroscopic water droplets) ลอยอยู่ในอากาศ
หมอกน้ำค้างมีลักษณะเช่นเดียวกับหมอกแต่บางกว่า เมื่อมีหมอกน้ำค้างเกิดขึ้นเหนือที่ใดมักจะแลดูคล้ายม่านบางสีเทาคลุมอยู่
เหนือภูมิประเทศแห่งนั้น ทำให้ทัศนวิสัยที่ผิวพื้นโลกลดลงน้อยกว่าหมอก แต่ยังเห็นได้ไกลเกินกว่า 1 กม.
ความชื้นสัมพัทธ์ในหมอกน้ำค้างมักจะน้อยกว่า 95%
หมอกน้ำค้างเป็นสภาพอากาศที่อยู่ระหว่างฟ้าหลัวชื้น (damp haze) กับหมอก

หมอกเป็นหย่อม(Fog patches) - BCFG เป็นหมอกซึ่งกระจายออกเป็นแนวไม่สม่ำเสมอกัน เป็นหย่อมๆ

หมอกตื้น (Shallow Fog) - MIFG เป็นหมอกซึ่งปกคลุมพื้นดิน ต่ำกว่า 2 เมตร

หมอกบางส่วน (Partial fog) - PRFG เป็นหมอกซึ่งปกคลุมบางส่วนของทางวิ่ง (Runway)

     การเกิดหมอก ลักษณะการเกิดคล้ายเมฆ หมอกทุกชนิดเกิดเมื่ออุณหภูมิอากาศมีค่าเท่ากับอุณหภูมิจุดน้ำค้าง
ทำให้อากาศเกิดการอิ่มตัว (saturate) แล้วกลั่นตัว (condense) เป็นละอองน้ำเล็กๆ


หมอกสามารถแบ่งออกตามลักษณะการเกิด ดังน
ี้

1. หมอกที่เกิดจากการเย็นตัวของอากาศ (Cooling fog) เป็นหมอกที่เกิดขึ้นภายในมวลอากาศ บางทีเรียกว่า (Air mass fog)
ซึ่งแบ่งย่อยออกได้อีก คือ

1.1 หมอกที่เกิดจากการแผ่รังสีความร้อน (Radiation fog) เป็นหมอกที่เกิดเหนือพื้นดินในเวลากลางคืน และจางหายไป
ในเวลาเช้า ภายหลังดวงอาทิตย์ขึ้น หมอกชนิดนี้มักเกิดในวันที่อากาศดี ท้องฟ้าแจ่มใส ลมอ่อน และอากาศมีความชื้นสูง
เกิดจากในตอนกลางคืน พื้นดินจะคายความร้อนหรือแผ่รังสีออกได้มากเป็นเหตุให้พื้นดินเย็นลง อากาศในชั้นล่างที่อยู่ติดพิ้นดิน
จะเย็นลงด้วย จนมีอุณหภูมิเท่ากับจุดน้ำค้าง ทำให้ไอน้ำในอากาศที่อยู่ใกล้พื้นดินกลั่นตัวเกิดเป็นหมอก

1.2 หมอกที่เกิดจากการพาความร้อนในแนวนอน (Advection fog) หมอกที่เกิดขึ้นในชั้นต่ำ ๆ ของมวลอากาศชื้นซึ่งเคลื่อนที่
ไปบนผิวพื้นที่เย็นกว่าจนทำให้อุณหภูมิของอากาศข้างล่างลดลงต่ำกว่าอุณหภูมิจุดน้ำค้าง หมอกชนิดนี้มักเกิดจากอากาศชื้น
เคลื่อนที่ไปบนผิวพื่นน้ำที่เย็นจัด (เช่น หมอกทะเล - sea fog)

1.3 หมอกลาดเนินเขา (Up-slope fog) หมอกที่เกิดตามลาดเนินเขาด้านรับลม เนื่องจากอากาศยกตัวสูงขึ้นตามลาดเขา
ทำให้เกิดการขยายตัวแบบแอเดียแบติค (adiabatic expansion) แล้วเย็นลงจนถึงอุณหภูมิจุดน้ำค้างจนไอน้ำกลั่นตัวกลายเป็นหมอก

2. หมอกที่เกิดจากการระเหย (Evaporation fog) หมอกซึ่งเกิดขึ้นโดยการระเหยอย่างรวดเร็วของน้ำจากผิวหน้าน้ำที่อุ่นและกระจาย
เข้าไปในมวลอากาศเย็นและมีเสถียรภาพคือมีการทรงตัวดี ทำให้มวลอากาศเย็นนั้นอิ่มตัวและเกิดเป็นหมอก ซึ่งแบ่งได้ดังนี้

2.1 หมอกในแนวปะทะอากาศ (Frontal fog) หมอกซึ่งเกิดขึ้นในบริเวณแนวปะทะอากาศ โดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
หมอกซึ่งเกิดก่อนแนวปะทะอากาศอุ่น (warm - front pre - frontal fog) หมอกซึ่งเกิดตามหลังแนวปะทะอากาศเย็น
(cold - front post - frontal fog) และหมอกซึ่งเกิดขณะแนวปะทะอากาศเคลื่อนผ่าน (frontal - passage fog)

2.2 หมอกไอน้ำ (Steam fog) หมอกที่เกิดจากการระเหย คือเมื่อไอน้ำระเหยเข้าไปหรือเพิ่มเข้าไปในอากาศซึ่งเย็นจัดกว่ามาก
และมีการทรงตัวดี ตัวอย่างเช่น มวลอากาศเคลื่อนผ่านแนวน้ำแข็ง (stretches of ice) ก่อนจะผ่านไปเหนือผิวพื้นทะเลที่อุ่น



การพยากรณ์หมอก : Fog forecast หมอกจะเกิดขึ้นเมื่ออากาศมีคุณสมบัติต่อไปนี้

1. ท้องฟ้าไม่มีเมฆ (Clear sky) หรือมีเมฆเล็กน้อย

2. ลมอ่อน ไม่เกิน 5 นอต (Light wind)

3. ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศสูง (High relative humidity)

4. อัตราส่วนผสมของอากาศจะต้องคงที่หรือเพิ่มขึ้น (Constant or Mixing ratio)

5. อากาศมีการทรงตัวดี (Stable air) และมี inversion ที่ระดับต่ำ


การพยากรณ์หมอกสลายตัว : หมอกจะสลายตัวมีหลักสังเกตดังนี้

1. เมื่อมีความร้อนเกิดขึ้น เช่น ดวงอาทิตย์ส่องในตอนเช้า หมอกเมื่อได้รับความร้อนก็จะยกตัวกลายเป็นเมฆหรือระเหยกลายเป็นไอหมด

2. เมื่อลมมีกำลังแรงขึ้น หมอกจะสลายตัวได้เร็วชึ้น

3. เมื่อมีเมฆปกคลุมท้องฟ้ามากชึ้นจะทำให้หมอกสลายตียิ่งขึ้น

     การกำจัดหมอก การกำจัดหรือลดปริมาณหมอกลงในบริเวณพื้นที่จำกัดพื้นที่หนึ่ง โดยการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติหรือ
โดยการกระทำของมนุษย์ หมอกซึ่งเย็นจัดต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง (Supercooled Fog) สามารถทำให้สลายตัวไปได้ โดยการหว่านน้ำแข็งแห้ง หรือซิลเวอร์ไอโอไดด์ (dry ice or silver iodide) เข้าไปในหมอก ส่วนหมอกอุ่น (warm fog) สามารถกำจัดได้โดยวิธี FIDO (Fog Investigation Dispersal Operations) เป็นวิธีกำจัดหมอกซึ่งอังกฤษเป็นผู้ค้นคิดขึ้น ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเผาน้ำมันเบนซิน (gasoline) หรือเชื้อเพลิงอื่นๆ ให้เป็นแนวไปตามข้าง ๆ ทางวิ่ง
ของสนามบิน (airfield runway)


กองอุตุนิยมวิทยาการบิน ©2015 กรมอุตุนิยมวิทยา
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โทร.02-134-0011 ต่อ 210 หรือ 211 Fax.02-134-0009-10