เรียบเรียงโดย ... ทีมงานเว็บไซต์กองอุตุนิยมวิทยาการบิน

Jet Stream ( กระแสลมกรด )

     คือ แถบกระแสลมแรงที่เคลื่อนที่ในเขตโทรโพพอส (แนวแบ่งเขตระหว่างชั้นโทรโพสเฟียร์กับชั้นสตราโตสเฟียร์)
โดยพัดจากด้านตะวันตกไปตะวันออกตามแนวการหมุนของโลก และพัดโค้งไปมาคล้ายแม่น้ำจากละติจูดสูงไปละติจูดต่ำ
หรือจากละติจูดต่ำไปละติจูดสูง กระแสลมนี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมีความยาวหลายพันกิโลเมตร มีความกว้าง
2-3 ร้อยกิโลเมตร แต่มีความหนาเพียง 2-3 กิโลเมตรเท่านั้น โดยทั่วไปกระแสลมกรดจะพบที่ระดับความสูง 10-15 กิโลเมตร
(6-9ไมล์) เหนือพื้นโลก

     กระแสลมกรดมีความเร็วประมาณ 50-300ไมล์ต่อชั่วโมง ตรงแกนกลางของลมเป็นบริเวณแคบๆแต่มีลมพัดแรงที่สุด
โดยความเร็วลมเฉลี่ย 80 นอต หรือ 92ไมล์ต่อชั่วโมงและอาจเพิ่มถึง 300ไมล์ต่อชั่วโมงในหน้าหนาว บริเวณกระแสลม
อากาศจะมีความแปรปรวนปั่นป่วนมาก เนื่องจากความแตกต่างของความแรงของกระแสลมกรดกับอากาศที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
กระแสลมกรดยังมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อการก่อตัวของเมฆฝนฟ้าคะนอง โดยส่งผลให้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นอย่างรุนแรงได้



     กระแสลมกรดเป็นกระแสลมที่เกิดในบรรยากาศ ซึ่งพัดจากด้านตะวันตกไปตะวันออก กระแสลมกรดจะไหลอยู่บริเวณ
ขอบระหว่างอากาศร้อนกับอากาศเย็น จะมีความแตกต่างกันมากในฤดูหนาวเกิดได้ทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ความเร็ว และตำแหน่งของกระแสลมกรดจะเปลี่ยนไปวันต่อวัน กระแสลมกรดในบริเวณละติจูดสูงมีความแรงมากกว่ากระแสลมกรด
ในบริเวณศูนย์สูตร กระแสลมกรดในฤดูหนาวมีความแรงมากกว่าในฤดูร้อน และฤดูหนาวจะพบกระแสลมกรดใน
ละติจูดกลางและละติจูดต่ำได้ นอกจากนี้ตำแหน่งการเกิดของกระแสลมกรดยังสัมพันธ์กับระบบอากาศผิวพื้่น
โดยเฉพาะหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงและแนวปะทะอากาศ และยังพบว่าในช่วงฤดูหนาว กระแสลมกรดในซีกโลกเหนือ
ที่มีทิศทางมาทางใต้และวกกลับขึ้นไปทางเหนือ จะวิเคราะห์ได้เป็น Trough ในระดับสูง เนื่องจากด้านตะวันตกประกอบด้วย
อากาศแห้งและเย็น และอากาศยกตัวขึ้นทางด้านตะวันออกของ Trough และจะเกิดฝนฟ้าคะนองที่รุนแรงได้

กระแสลมกรดแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆคือ

1. กระแสลมกรดกึ่งโซนร้อน ( Subtropical Jet ) เกิดขึ้นในละติจูด 25 ถึง 40 องศาเหนือและใต้ ซึ่งเป็นเขตความกดอากาศสูง
กึ่งโซนร้อน มักเกิดที่ระดับความสูงประมาณ13 กิโลเมตร มีความเร็วลม 80-150 นอต บางครั้งมากว่า 400 นอต พบได้บ่อยบริเวณ
เอเชียตะวันออก และแปซิฟิก

2. กระแสลมกรดบริเวณขั้วโลก (Polar Jet ) เกิดในละติจูด45 ถึง60 องศาเหนือและใต้ มักเกิดที่ระดับความสูง8 ถึง10 กิโลเมตร
พบได้ใกล้แนวปะทะอากาศขั้วโลกซึ่งเกิดจากอากาศหนาวจากขั้วโลกเคลื่อนที่มาพบกับอากาศอุ่นจากเขตร้อนและอยู่เหนือแนว
ปะทะอากาศขั้วโลก

 

 


ผลกระทบ

1.ผลกระทบต่อบรรยายกาศ กระแสลมกรดเป็นกระแสลมที่มีความแรงมากสามารถมีผลกระทบกับระบบของอากาศโดยรอบ
และปรากฎการณ์ที่มักเกิดร่วมกับกระแสลมกรดเรียกว่า บริเวณความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส (Clear air turbulence: CAT )

2.ผลกระทบต่อการบิน อันตรายของกระแสลมกรดต่อเครื่องบินที่กำลังทำการบิน โดยเฉพาะเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ทำการบิน
ในระดับสูงๆ เมื่อเครื่องบินเข้าสัมผัสกับกระแสลมกรดจะประสบกับความปั่นป่วนของอากาศอย่างรุนแรงอันเกิดจากวินเชียร์
ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน และอันตรายจากความเร็วลมซึ่งทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของเครื่องบินอย่างรุนแรง
ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องบินและผู้โดยสารอาจได้รับบาดเจ็บได้

** หมายเหตุ ดังนั้นก่อนทำการบินทุกครั้งนักบินต้องศึกษาตำแหน่งและความรุนแรงของลมในแนวของกระแสลมกรด
ให้ละเอียดจากเอกสารประกอบการบิน(Flight Folder) และข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาอื่นๆเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดอันตราย
จากกระแสลมกรดให้น้อยลง


กองอุตุนิยมวิทยาการบิน ©2015 กรมอุตุนิยมวิทยา
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โทร.02-134-0011 ต่อ 210 หรือ 211 Fax.02-134-0009-10